สนาม: ฮั่นเน็ต
บทนำ: เรื่อง ค่าแรงขั้นต่ำ นี่ เป็นปัญหาโลกแตกมาตลอด ลูกจ้าง ก็จะเอาแพงๆ นายจ้าง ก็จะจ่ายถูกๆ ก็มีเหตุผลด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าถามว่าฝ่ายไหนผิด-ฝ่ายไหนถูก? ไม่รู้? รู้แต่ว่า เวลานี้ บริษัท-ห้างร้าน-ธุรกิจ-อุตสาหกรรมทั้งหลาย ต่างมีแผน ลดจ้าง-โละคน ออกเรื่อยๆ แต่งาน ไม่ลด ! เมื่องานไม่ลด แถมมีแต่เพิ่มขึ้น แล้วจะให้ใครทำงาน? คำตอบคือ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีไอที ที่จะเข้ามาแทน แทนคน ! เหตุผลชัด-ตรงตัว ลดต้นทุน หุ่นยนต์ไม่เรื่องมาก ไม่เรียกร้องโบนัส-เงินเดือน ไม่มีโอที ไม่ประท้วงหยุดงาน แถมควบคุมได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปเครือซีพีทุกวันนี้ ใช้ หุ่นยนต์ แทน คน มากขึ้น โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปใหญ่ที่สุดในจีนของซีพี เนื้อที่มากกว่า ๔๒,๐๐๐ ตารางเมตร ผลิตตลอด ๒๔ ชั่วโมง ไม่ใช้คนเลย! โกดังสินค้าอาลีบาบา ของแจ๊ก หม่า กว้างใหญ่เป็นเมือง แต่ใช้คนแค่ ๓๐% ที่เหลืออีก ๗๐ ใช้หุ่นยนต์ ถ้าสังเกต ช่วงรอยต่อศตวรรษ จะเห็นบริษัทธุรกิจการค้าใหญ่ๆ ต่างประกาศแผน ลดคน ใช้หุ่นยนต์และระบบไอทีแทนเรื่อยๆ แม้แต่ในบ้านเรา หลายวันก่อน ผู้บริหารแบงก์ไทยพาณิชย์ นายอาทิตย์ นันทวิทยา ก็ประกาศปรับองค์กร รองรับกระแสดิจิทัล ขับเคลื่อนไทยพาณิชย์สู่ความเป็น The Most Admired Bank ด้วยแผน ๓ ปี ลดสาขาเหลือ ๔๐๐ จาก ๑,๑๕๓ สาขา ตั้งเป้าลดพนักงานเหลือ ๑๕,๐๐๐ คน จาก ๒๗,๐๐๐ คน หลายคนตกใจ นึกว่าการลดสาขา-ลดพนักงานหมายถึงแบงก์ไทยพาณิชย์สั่นคลอน ธุรกิจกินดอกเบี้ยเตี้ยลง พนักงานไทยพาณิชย์ก็ตกใจ แต่ไม่ได้ตกใจด้านนั้น หากแต่ตกใจด้วยกลัว ตกงาน ถึงขั้นประท้วง แต่ก็ ตกลง ได้ ด้วยเข้าใจกัน ลบแผนโละ แต่พนักงานต้อง สร้างศักยภาพ ตัวเอง รองรับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกด้วย! ที่หยิบเรื่องนี้มาคุย เหตุผลแรก คือ โลกมันหมุน ถ้าเราอยากอยู่กับโลกให้สุข ก็ต้องหมุนไปกับโลก คือวันนี้ ถึงยุคเทคโนโลยีไอทีครองโลก ถ้าเราอยากมีงาน มีเงินจากงาน มีความลงตัวในการใช้ชีวิตร่วมสังคมโลก ก็ต้องเรียนรู้-พัฒนาให้เข้ากับยุค อย่าอ้างวัยเพื่อเลี่ยงการเรียนรู้ พูดง่ายๆ ต้อง อัพเกรด ตัวเอง สู่ยุคไอทีด้วย ที่ นายกฯ ประยุทธ์ วางแนวสร้างศักยภาพประเทศ ด้วยยุทธศาสตร์ ๔๐ นั่น ถูกแล้ว เมื่อโลกเขาลัดนิ้วมือไปด้วยไอที และเราวางตำแหน่งประเทศเป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นประเทศอุตสาหกรรมเกษตรส่งออก อุตสาหกรรมเครื่องจักร และปิโตรเคมีและสังสรรค์-สโมสรร่วมประชาคมโลกทุกรูปแบบอย่างทุกวันนี้ ก็จำเป็น ต้อง หมุนตามโลก ไปกับเขา! กรณีแบงก์ไทยพาณิชย์ ผมจึง มองต่าง ในทันทีที่เห็นข่าว คือขณะที่คนอื่น มอง มุมลบ ผมกลับเห็นการ ลดสาขา-ลดพนักงาน ว่านั่น เป็นวิสัยทัศน์ของคณะบริหารไทยพาณิชย์ สมัยก่อน แต่ละแบงก์ จะใหญ่-จะโต จะมีหน้า-มีตา วัดกันตรงใครมีสาขาครอบคลุมแต่ละพื้นที่ประเทศมากกว่ากัน เพราะยุคนั้น สลึงหนึ่ง บาทหนึ่ง คนก็ต้องหอบสังขารไปแบงก์ แต่ยุคไอที มีตู้ ATM ให้ฝาก-ถอน-โอน-กู้ ริมถนน ตามห้าง ตามชุมชน ตลอด ๒๔ ชั่วโมง สำนักงานสาขา กลายเป็นตัวเทอะทะ สร้างภาระ เพิ่มค่าใช้จ่าย เปลืองคนโดยเปล่าประโยชน์ ยุคนี้ คนเดินห้าง เดินถนน มากกว่าคนเดินไปแบงก์ ฉะนั้น เอาตู้ ATM ติดตามชุมชน เช่าพื้นที่ห้าง กั้นห้อง ใช้คนไม่กี่คน ลดรายจ่าย-เพิ่มกำไร ให้แบงก์อีกจมหู เหลือสำนักงานสาขาไว้ทำธุรกรรมระดับพันล้าน-หมื่นล้านในจุดจำเป็น เหลือเฟือแล้ว วงจรธุรกิจการเงิน-การธนาคาร นับวันจะเปลี่ยนอุปสงค์-อุปทาน และรูปแบบธุรกรรมก็ไม่เหมือนเดิม ผมจึงมองว่า การประกาศวิสัยทัศน์ของไทยพาณิชย์วันก่อน ไม่ใช่ ถอยหลัง หากแต่เป็นการ ตั้งตัว ทะยานรับโลกยุคดิจิทัลมากกว่า! ไทยเรา ตั้งเข็มทิศ ทางไปทางนั้นอยู่แล้ว เห็นได้จากโมเดลประเทศ ๔๐ อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม -กลุ่มอุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกล ที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม -กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ที่เชื่อมต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว เป็น ๒ ใน ๕ กลุ่ม ที่รัฐบาล คสช ทำให้เกิด ในโครงการอีอีซี อันเป็นโครงการต่อยอดโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่ทำให้ไทยโชติช่วงชัชวาลในสมัยป๋าเปรม ฉะนั้น ทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน ถ้าไม่ต้องการตกอยู่ในภาวะกระเสือก-กระสน ก็ต้อง สน เพื่อปรับธุรกิจและพัฒนาศักยภาพบุคคลไปอยู่ในจุดนั้น นี่คือการอยู่ดูโลกให้มันโศภิน แต่ถ้าไม่ต้องการ อยากอยู่กับโลกเดิมๆ ที่ชิน ก็ไม่เป็นไร ถ้ามั่นใจว่า ทรัพย์สินเงินทองเท่าที่สะสมไว้ แก่ตายก็ใช้ไม่หมด นั่นก็ไม่ต้องไปถวายตัวเป็นทาสไอทีก็ได้ เอาเงินไปซื้อหุ่นยนต์ซักตัว มาเป็นหมอนวด ไปซื้อโอเลี้ยงปากซอย สบายมาก! ทีนี้ มาคุยกันถึง เหตุผลที่ ๒ ในยุค หุ่นยนต์-ไอที มาแทนคน คือหลายวันก่อน มีโอกาสพบ คุณบรรพต หงษ์ทอง มือสร้างตลาดสินค้าส่งออก ยุคเป็นอธิบดีอยู่พาณิชย์ แต่ไพล่ไปเป็นปลัดเกษตรฯ ท่านปรารภว่า เห็นหุ่นยนต์และไอทีทำงานแทนคนมากขึ้นเรื่อยๆ ใจหนึ่ง ก็เข้าใจด้านยุคสมัยที่พัฒนาไป แต่อีกใจก็ห่วง คนใช้แรงงาน เมื่อเทคโนโลยีมาแทนที่ มนุษย์ที่เคยมีรายได้ เพื่ออยู่-เพื่อกิน-เพื่อเลี้ยงครอบครัว จะทำอย่างไรกัน? นายกฯ ประยุทธ์ มุ่งยุทธศาสตร์นวัตกรรม ก็เห็นด้วย แต่อยากฝากท่านนายกฯ ช่วยคิด-ช่วยหาทาง เผื่อกลุ่มคนระดับแรงงานที่จะกลายเป็น มนุษย์ส่วนเกิน ในยุค หุ่นยนต์-ไอที ให้ด้วย เพราะคนกลุ่มนี้ เพิ่มศักยภาพตามยุคไม่ทันแน่ แล้วจะให้พวกเขาไปทำมาหากินอะไร? ไปทำไร่-ทำนา พูดง่าย แต่ทำยาก และใช่ว่ามีพื้นที่เหลือเฟือให้เขาเลือกไปทำกิน คนว่างงาน จะกลายเป็น ปัญหาย้อนศร สังคม สินค้าหุ่นยนต์ผลิตออกมา จะไปขายให้ใคร ในเมื่อ กำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ในสังคม ล้วนซีด เพราะไร้งาน-ไร้เงิน!? ปัญหา เศรษฐกิจ-สังคม ดูไปเหมือน ลูกรูบิก หมุนแถบสีด้านนี้เรียงเสร็จ พลิกอีกด้านอ้าว หน้าด่าง-ต่างสีกันซะแล้ว! การพัฒนาใช้หุ่นยนต์แทนคน มันก็โอเค แต่คนที่ถูกหุ่นยนต์แทนที่ล่ะ โอเคมั้ย? ตรงนี้ รัฐบาลต้องคิด หาแผน-หาทาง รองรับไว้ด้วย ชะล่าใจไม่ได้ เพราะไอทีมันมาเร็ว ต่างกับคน ที่รายได้มาช้า แต่หิวเร็ว-โกรธเร็ว! เรื่องการเมืองตอนนี้น่ะ อยู่กับมันได้ แต่อย่าเข้าไปในมัน หมายถึง อย่าเอามาเป็นอารมณ์จนเสียศูนย์ ถอยออกมานิด แล้วมองเข้าไป จะเห็น ขบวนการแต้มแต่ง กระเย้อกระแหย่งกันน่าเหยียบ คิดในมุมกลับ แปลง วิกฤตินาฬิกา เป็นเหยื่อล่อ ก็ได้ผล บ้านเมืองที่เข้าใจว่าสงบ โยนนาฬิกาทดสอบตูมเดียว เหี้ยกรูออกมาเป็นฝูง!...
ลิงค์ที่เป็นมิตรเวลาปัจจุบัน:2021-03-05